น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่มีต่อครอบครัวยุวชนอัจฉริยะทางพระศาสนา
แนวดำริท่านเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี
แผ่เข้ามาโอบอุ้มเด็กอัจฉริยะให้ต่อยอดทางพระศาสนา
(อัจฉริยะ น้องพะพาย ตอนที่ ๒)
เมื่อผมได้รับการประสานจากสำนักพระราชวัง จึงได้ทราบดำริของท่านเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เรื่องการเสริมความรู้แนวทางการเรียนภาษาบาลีให้เด็ก ๆ ยุวชนที่มีความสามารถพิเศษทางศาสนา เช่น สามเณรอุทุมพร อายุ ๕ ขวบท่องจำปาติโมกข์ได้ เด็กชายพะพาย และน้องแอนฟิลด์ เมื่อครั้งอายุ ๖ – ๙ ขวบ สามารถจำบทสวดมนต์ได้ทุกบททุกตอน หรือ น้องวินเนอร์ อายุ ๔ – ๕ ขวบ เชี่ยวชาญชำนาญพระเครื่อง เป็นต้น เด็ก ๆ เหล่านี้ ควรมีโอกาสรู้ภาษาบาลี หากมีความสนใจจริงจัง ก็ควรส่งเสริมสนับสนุนต่อยอดให้ศึกษาภาษาบาลีในขั้นสูง ๆ ขึ้นไป
เมื่อท่านเจ้าคุณพระสินีนาฏ ฯ มีแนวดำริให้จัดกิจกรรมทางภาษาบาลีให้กับเด็กอัจฉริยะทางด้านพระศาสนาเช่นนี้ ก็ยิ่งสร้างศรัทธาความเชื่อที่ผมได้รับรู้ทางสื่อและมีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า “ท่านเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เอาใจใส่เรียนพระบาลี ส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลี” ที่สำคัญ คือ ท่านมีแนวคิดปลูกฝังศีลธรรม จรรยา ให้กับเด็กและเยาวชน โดยการศึกษาพระบาลี ที่เรียกว่า สร้างศาสนทายาทในร่างอุบาสกอุบาสิกาตั้งแต่เยาว์วัย เด็ก ๆ อัจฉริยะเหล่านี้เติบใหญ่ขึ้นมา หากได้ทำงานบริหารชาติบ้านเมืองในระดับใดก็ตาม ก็จักเป็นคุณประโยชน์แก่งานพระศาสนาอย่างอเนกประการ
วันศุกร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ผมได้รับความเมตตาอย่างสูงยิ่ง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเองจากท่าน ดร.สมศักดิ์ อนุราชเสนา ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ระดับ ๑๐ ท่านได้เล่าความเป็นมา วัตถุประสงค์กิจกรรม ขณะเตรียมคอมพิวเตอร์สำหรับบรรยาย และเดินสนทนาไปยังอาคารรับรอง เมื่อได้เวลาบรรยาย มีท่าน พลอากาศตรี สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง เป็นประธานกล่าวต้อนรับ ยิ่งทำให้ทราบถึงพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และท่านเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชมโสมนัสที่ทรงเห็นเด็ก ๆ มีความสามารถทางพระศาสนา เห็นประโยชน์ในการศึกษาภาษาบาลี เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เด็ก ๆ เหล่านี้ หากเรียนรู้ภาษาบาลีเพิ่มเติม ไม่ว่าจะดำรงตนในฐานะบรรพชิต หรืออุบาสกอุบาสิกา ก็จักเป็นการสืบสานรักษา ต่อยอดพระปริยัติศาสนา ได้อีกทางหนึ่ง
หลังจากคณะวิทยากรบรรยายและสนทนาจบลง ผมเกิดอาการไม่แน่ใจว่า จะมีผู้ปกครองและเด็ก ๆ สนใจเรียนบาลีบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีใครเข้ามาติดต่อเลย อาจจะเกิดจาก ๒ สาเหตุ คือ คำบรรยายโน้มน้าวไม่ดีพอ หรือไม่ก็ ไม่มีใครสนใจเรียนภาษาบาลีเลย ก็ได้แต่อธิษฐานจิต ขอให้มีบุญได้ช่วยเหลือด้านภาษาบาลีในกิจกรรมนี้
ปรากฏว่า หลังคำบรรยายสนทนาจบลง ผู้ปกครองคนแรกที่เข้ามาติดขอโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คือ คุณพิรมน มุทาวัน ผู้ปกครองนายอมรเทพ ณัฐวงศ์วิวัฒน์ หรือน้องพะพายที่สามารถจำบทสวดมนต์ได้ทุกบทตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ ขณะนี้ (ปี ๒๕๖๗) น้องพะพาย อายุย่าง ๑๗ ปี จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ด้วยเกรดเฉลี่ย ๔.๐๐ กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เป็นคนเดียวที่ทักสนทนาในที่ประชุมที่ผมจำคำพูดคำถามน้องพะพายได้ว่า “เรียนบาลีอย่างไร เรียนบาลีได้อะไร? ดูเหมือนเป็นคำถามง่าย ๆ แต่ตอบยากมาก ผม ท่านพลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย และ ศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ พยายามช่วยกันสรรหาคำตอบให้ผู้ปกครองและเด็กเกิดความสนใจที่จะเรียนบาลีอย่างเต็มความสามารถที่จะสรรหามาตอบได้
ขณะเดินไปยังห้องอาหารเลี้ยงรับรอง ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้ปกครอง ๓ – ๔ ท่าน ทุกท่านประทับใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กิจกรรมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ให้กำลังใจสร้างแรงบันดาลใจที่จะประคับ ประคองบุตรธิดาให้ยึดมั่นในความดีเป็นพลเมืองที่ดีสนองคุณชาติศาสนาพระมหากษัตริย์
ขณะรับประทานอาหารเย็น ณ ห้องอาหารราชนาวีสโมสร ผมพยายามสังเกตผู้ปกครองและเด็ก ๆ เห็นว่า ทุกคนมีอาการปลาบปลื้มยินดี อาหารรสเลิศ บรรยากาศเยี่ยมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จัดไว้ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ ผู้ปกครองนั่งคุยสนทนากันยิ้มแย้ม คงเก็บเป็นเรื่องเล่าที่แสนประทับใจที่สุดในชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ตัวกระผมเอง นึกถึงเมื่อครั้งอายุ ๑๖ ปี เข้ามาเรียนบาลีวัดชนะสงคราม สมัยเป็นสามเณรน้อย ๆ หยุดเรียนวันโกนวันพระ สถานที่ที่ไปบ่อยที่สุด คือ เที่ยวชมวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง และเดินอ่านหนังสือการ์ตูนตามแผงหนังสือเก่าสนามหลวง เดินเท้าจากวัดชนะสงคราม ผ่านสนามหลวง เพียง ๒๐ – ๓๐ นาที เท่านั้น แทบทุกปีทุกที่ที่เข้าชมได้ รับพระราชทานพัดยศเป็นสามเณรเปรียญธรรม ๖ ประโยค และ ๙ ประโยค ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นนาคหลวงอุปสมบทภายในพระบรมมหาราชวังแห่งนี้ ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่า จะได้มีโอกาสมาเล่างานเสนองานเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยเรียนช่วยสอนภาษาบาลี บอกกล่าวเล่าการเรียนภาษาบาลี ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเติบใหญ่มีโอกาสไปเยือนเอเชียและยุโรปหลายประเทศ ก็มีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ น้อมสำนึกในบุรพมหากษัตริย์ที่รักษาสืบทอดพระศาสนามาจวบจนปัจจุบัน ทั้งยังได้สรรสร้างบรมมหาราชวังสถานที่วิจิตรสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของชาติพระศาสนาไม่แพ้ชาติใด ๆ ในโลกนี้ ความรู้สึกเช่นนี้ของผู้ปกครองเด็ก ๆ คงไม่ต่างจากผม
ภายในห้องอาหารเย็นมื้อนั้น มีผู้ปกครอง ๑ ท่าน คือ คุณกอบกิจ บัวอ่อน ผู้ปกครองเด็กชายภัทรชนน บัวอ่อน ขณะนี้อายุย่าง ๑๔ ขวบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ที่มีความสามารถจำบทสวดมนต์ได้ สวดมนต์ได้ตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ คุณกอบกิจได้เข้ามาพูดคุยสนทนาด้วย ขอโปรแกรมคอมพิวเตอร์เรียนภาษาบาลี และจะพยายามประคับประคองบุตรชายให้เจริญทางธรรมควบคู่กับทางโลกไปตามลำดับ
เช้าวันที่ ๑๔ พฤษภาคม หลังกิจกรรม ๑ วัน รศ.ศานติ เดชคำรณ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ท่านเป็นโยมพ่อผู้ปกครองสามเณรอุทุมพร เดชคำรณ อายุ ๗ ขวบ มีความสามารถพิเศษจำบทสวดพระปาติโมกข์ได้ตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ โดยท่านแจ้งว่า ประชุมกิจกรรมวันนั้น ก็มีความสนใจอยากให้สามเณรบุตรชายได้เรียนรู้ภาษาบาลีนอกจากจะจำพระบาลีได้แล้ว อยากให้สามารถแปลบาลีได้ด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้มีอายุเพียง ๗ ขวบ ยังไม่ชำนาญการอ่านภาษาไทยที่ยาก ๆ ทั้งยังอยู่ในปกครองของพระอาจารย์โสภา สรโณ ซึ่งเป็นพระป่ากรรมฐาน จึงต้องกราบนมัสการปรึกษาพ่อแม่ครูอาจารย์ทางธรรมสามเณรก่อน บัดนี้ พระอาจารย์โสภา สรโณ ท่านอนุญาตแล้ว
สิ่งที่น่ายินดี คือ คุณพิรมน มุทาวัน คุณแม่น้องพะพาย สังเกตจากไลน์พูดคุยท่านให้ความสนใจการเรียนพระบาลีมาก ๆ ยินดีสนับสนุนบุตรชายเต็มที่หากมีจิตใจโน้มมาทางเรียนบาลี ทั้งได้นำเรื่องการเรียนบาลีด้วยคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์สามารถสอนบาลีแทนครูได้ แม้ครูที่ไม่รู้บาลีเลยก็สามารถทำหน้าที่ควบคุมการจัดการเรียนบาลี ไปบอกเล่าขยายผลให้ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนที่น้องพระพายเคยเรียน และแม่ชีที่วัดใกล้บ้านจนเป็นเหตุให้ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนและแม่ชีที่สนใจ ติดต่อเข้ามา
จากผู้รับฟัง เด็ก ๙ คน สามเณร ๑ รูป ผู้ปกครอง ๒๐ ท่าน รวม ๓๐ ท่าน มีผู้สนใจ ๓ ท่าน บุคคลภายนอก ๒ ท่าน (ที่ได้รับคำบอกเล่า) รวมเป็นทั้งหมด ๕ ท่าน ที่สนใจเรียนพระบาลีอันเป็นผลจากกิจกรรมครั้งนี้ ผมได้จัดส่งซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ไปให้ และหากมีเวลามีโอกาส จะทำหน้าที่ติดตามดูความเจริญก้าวหน้าทางธรรมบาลีของเด็ก ๆ หากเด็กอัจฉริยะเหล่านี้ได้เรียนรู้ศึกษาบาลีเจริญงอกงามต่อยอดบุญบารมีทางศาสนา บุญกุศลเป็นอันมาก ย่อมเกิดแก่ผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้
สิ่งสำคัญ คือ การได้ทำหน้าที่ในฐานะอุบาสกที่เคยบวชเรียน ได้สนองคุณพระศาสนาพระมหากษัตริย์ เมื่อรู้ว่าภาษาบาลีเป็นภาษาพระพุทธเจ้า เป็นภาษาพระพุทธศาสนา เป็นอริยโวหารภาสา เป็นภาษาพระอริยเจ้าสำหรับบันทึกสภาวธรรมช่วยเหล่าสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสังสาร บุญกุศลเป็นอันมากย่อมเกิดกับผู้กล่าวสอนพระบาลี ผู้เรียนพระบาลี ดังคำบาลีจากคัมภีร์อรรถกถา กล่าวไว้ว่า เยน จ ปุคฺคเลน ธมฺมสฺสวนํ การิตํ
ตสฺเสว มหานิสํโส อนึ่ง ผู้ใด จัดให้มีการฟังธรรม เรียนรู้ศึกษาธรรม อานิสงส์เป็นอันมาก ย่อมมีแก่ผู้นั้น เหมือนกัน
การส่งเสริมพระปริยัติศาสนา โดยจัดให้มีการสดับฟังธรรม ศึกษาเรียนรู้ธรรมอันเนื่องอยู่กับพระบาลี นี่คือ การสืบสาน รักษา ต่อยอดพระปริยัติศาสนา เป็นทางบุญกุศลอันแสนประเสริฐที่สุดแล้วในชีวิตนี้
พรุ่งนี้ ผมจะนำเรื่องราวที่ผมได้ทำหน้าที่ติดตามน้องพะพายมาเล่าสู่กันฟัง