“งานนี้ ยากมาก” คำแนะนำจาก “ราชบัณฑิต”

“งานนี้ ยากมาก”

คำแนะนำจาก

“ราชบัณฑิต”

ย้อนกลับไปเมื่อ ๓๐ ปี ผมทำงานรับใช้เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ณ วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เริ่มต้นด้วยการสร้างสถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส เพื่อการศึกษาคัมภีร์บาลีสัททาวิเสส หลักภาษาบาลีชั้นสูง เมื่อได้การยกสถานภาพขึ้นเป็นวิทยาเขตแล้ว ก็ได้เริ่มแผนงานปริวรรตแปลคัมภีร์บาลีสัททาวิเสส ทั้ง ๔ กลุ่ม สัททศาสตร์ นิฆัณฑุศาสตร์ ฉันทศาสตร์ และเกฏุภศาสตร์ ทำสำเร็จและพิมพ์เผยแผ่มากกว่า ๓๕ เล่ม จัดพิมพ์เผยแผ่เล่มละ ๓,๐๐๐ ฉบับ บางเล่มตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

ในช่วงที่ผมรับใช้ทำงานด้านคัมภีร์ โครงการปริวรรตแปลคัมภีร์บาลีสัททาวิเสส หน้าที่หลักของผม คือ จัดอาร์ทเวิร์ค ตรวจปรู๊ฟ จัดทำดรรชนีค้นคำ โดยผู้ทำต้นฉบับหลัก คือ อาจารย์นิมิตร โพธิพัฒน์ อาจารย์จำรูญ ธรรมดา และทีมงานอีกหลายท่าน แทบทุกเล่มที่ผมจัดอาร์ทเวิร์ค ได้อ่านตรวจ ความรู้ก็ค่อย ๆ งอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนั่งรอไฟล์งานฟังปราชญ์คุยถกสนทนากัน ระหว่าง อาจารย์นิมิตร และ อาจารย์จำรูญ นั่งฟังไม่มีเบื่อหน่าย ผมถือว่า สุดยอดปราชญ์บาลีสอนหนังสือ โดยมีคนนั่งเรียนคนเดียว คือ ผม

ในช่วงเวลาที่ผลงานบาลีตีพิมพ์ออกมาเรื่อย ๆ ผมได้มีโอกาสต้อนรับนักปราชญ์ราชบัณฑิต นอกรั้ววงการวัดหลายท่าน ที่แวะเวียนมาสนทนา เช่น อาจารย์ ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ จากอักษรศาสตร์จุฬา ฯ ศ.ดร.สมศีล ฌานวังศะ สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์ การได้พบปะสนทนากับนักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่มีความรู้เชี่ยวชาญและท่านเดินทางมาพบโดยเฉพาะนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล ท่านต้องเห็นประโยชน์จากงานที่เราทำ หรือ เห็นจุดด้อยของเราที่ท่านรู้ ท่านจึงเมตตาเดินทางมาหา กล่าวแนะนำ ที่สำคัญได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการจัดการเรียนการสอนภาษาบาลี ที่ คณะอักษรศาสตร์จุฬา ฯ ทำให้ผมมีความกล้าอย่างเพียงพอและสนองงานเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ที่เสนอโครงการเปิดการเรียนการสอน สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ ปริญญาโท ปริญญาเอก ที่มหาจุฬา ฯ

๒๐ ปี ล่วงมาแล้ว ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมศีล ฌานวังศะ เมื่อท่านเดินทางมาวัดญาณเวศกวัน ถ้าไม่มืดค่ำเกินไป ท่านก็จะให้ลูกศิษย์ท่าน พี่หมอเกรียงไกร สัตวแพทย์ ที่มหิดล ขับรถมาส่งที่พุทธโฆส หลายครั้ง เมื่อพี่หมอเกรียงไกร ย้ายไปตั้งหลักปักฐานที่อเมริกาหลายปี จึงขาดการพบปะสนทนากับท่านอาจารย์

เมื่อพบกันครั้งแรก ได้มอบคัมภีร์บาลีสัททาวิเสส ๒๐ กว่าเล่ม ท่านอาจารย์สมศีล ฌานวังศะ หยิบหนังสืออ่านปกแต่ละเล่ม อ่านคำนำบ้าง สารบัญบ้าง พร้อมทั้งกล่าวคำที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผม “… ผมเชื่อว่า ในรอบ ๑๐๐ ปี นับจากนี้ไป อาจจะไม่มีใครทำได้เหมือนพระธรรมโมลี (สมณศักด์ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในขณะนั้น)

๒๙ กันยายน ๒๕๖๗ ได้พบได้ต้อนรับราชบัณฑิตอีกครั้ง ครั้งนี้ ต่างจากพบกันที่พุทธโฆส เป้าหมายต่างออกไป อาจารย์พูดให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตั้งแต่ ๑๐ โมงเช้า จนถึง บ่าย ๓ โมง เกือบ ๕ ชั่วโมงเต็ม เริ่มกันตั้งแต่ชื่อหลักสูตรภาษาอังกฤษ ต้องตั้งชื่อใหม่ทั้งหมด ต้องยอมรับว่า “ราชบัณฑิตด้านภาษาศาสตร์” มิใช่จะได้กันมาง่าย ๆ ทำให้เพิ่มมุมมองอีกหลากหลายมิติ

จนถึงหัวข้อสุดท้าย ที่สนทนากัน “ทำอย่างไร จึงจะให้ศากยบุตรสามเณรสีหะ” เก่ง เชี่บวชาญ ฉลาดสามารถ เป็นนักภาษาศาสตร์เหมือนท่านอาจารย์ อาจารย์สมศีลตอบว่า “หลัก ๆ มี ๕ ข้อ แต่ยากนะที่จะทำได้” (ผมบันทึกไว้ส่วนตัว ขอนำมาทดลองพิสูจน์สร้างศากยบุตรสามเณรสีหะก่อนครับ)

ก่อนกลับผมขออนุญาตท่านอาจารย์สมศีล ฌานวังศะ จะนำผลงานหนังสือนิพนธ์งานเขียนของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ท่านแปลเป็นภาษาอังกฤษ ใช้เป็นเอกสารหลัก และหรือ หนังสือคู่มือ สำหรับรายวิชาการเรียนการสอน “หลักสูตรเตปิฏกบาลีศากยสีหะ” ท่านอนุญาต ยินดี และสนับสนุน

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ “ราชบัณฑิต” ที่เมตตาเดินทางมาเยี่ยมชมโครงการสร้างมหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย และคงได้ต้อนรับท่านอาจารย์อีกครั้ง และ อีกหลาย ๆ ครั้ง

Home
ข่าวสาร
เรียนบาลี
แบบแปลน
ที่ตั้ง